ก้มดูบัตรประชาชน จะทำใบขับขี่มอเตอร์ไซค์ ต้องอายุเท่าไหร่
6 มกราคม 2565
visibility97

พออายุเพิ่มเข้าวัยรุ่น เลือดก็จะสูบฉีด ความแรงการต้านลมของการปั่นจักรยานเริ่มเอาเราไม่อยู่แล้ว อยากอัพเกรดเป็นมอเตอร์ไซค์ แต่ไม่ใช่แค่ว่ามีตังซื้อรถมาได้แล้วขี่ได้เลย ถ้าไม่อยากโดนจับปรับหนักๆ สิ่งแรกที่ควรมีในการเข้าสู่วงการ Biker นั้นก็คือ ใบขับขี่ ซึ่งใบขับขี่มอเตอร์ไซค์มีหลากหลายประเภท และหลากหลายรูปแบบการใช้งานแบ่งเป็นประเภทรถ แบ่งเป็นวัตถุประสงค์การใช้รถเป็นต้น ทีนี้อายุอย่างเราทำใบขับขี่ประเภทไหนได้บ้างลองก้มดูปีเกิดแล้วมาดูหลักเกณฑ์กัน
อายุที่สามารถไปทำใบขับขี่ได้
- ใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
แต่ถ้าเป็นผู้ขอใบขับขี่รถจักรยานยนต์ชั่วคราว สำหรับรถจักรยานยนต์ที่มีกระบอกสูบรวมกันไม่เกิน 110 ลูกบาศก์เซนติเมตร ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์
- ใบขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
สำหรับเกณฑ์การขอรับใบอนุญาตขับขี่บิ๊กไบค์ จะแบ่งผู้ขับขี่ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 ผู้ที่มีใบขับขี่รถจักรยานยนต์ปกติอยู่ก่อนแล้ว และมีการครอบครองรถบิ๊กไบค์ ไม่น้อยกว่า 2 ปี สามารถมายื่นขอใบขับขี่ได้อัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องทดสอบการขับขี่ หรืออบรมภาคปฏิบัติ เนื่องจากมีประสบการณ์แล้ว โดยเจ้าของใบขับขี่จะต้องมีชื่อ และนามสกุลตรงกับชื่อผู้ครอบครองของรถบิ๊กไบค์
กลุ่มที่ 2 ผู้ที่มีใบขับขี่รถจักรยานยนต์ปกติอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งมีอายุไม่น้อยกว่า 2 ปี จะต้องเข้ารับการทดสอบขับขี่ และอบรมหลักสูตรการขับขี่บิ๊กไบค์ก่อน
กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ไม่เคยมีใบขับขี่รถจักรยานยนต์ประเภทใดมาก่อนเลย จะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 24 ปีเต็ม จึงจะยื่นขอรับใบขับขี่บิ๊กไบค์ได้ และจะต้องเข้ารับการทดสอบขับขี่ และอบรมหลักสูตรการขับขี่บิ๊กไบค์ ก่อน สำหรับใบขับขี่บิ๊กไบค์นั้น เบื้องต้นจะแต่งต่างจากใบขับขี่รถจักรยายนต์ทั่วไป โดยจะมีรูปรถบิ๊กไบค์แสดงในใบขับขี่บริเวณด้านหลังบัตรด้วย
คุณสมบัติอื่น ๆ ของผู้ที่จะทำใบขับขี่ต้องมี
- มีความรู้ความสามารถในการขับรถ
- มีความรู้ในข้อบังคับการเดินรถตามพระราชบัญญัติรถยนต์ และตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
- ไม่เป็นผู้มีร่างกายพิการจนเป็นที่เห็นได้ว่าไม่สามารถขับรถได้
- ไม่มีโรคประจำตัวที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ
- ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน
- ไม่มีใบขับขี่รถชนิดเดียวกันอยู่แล้ว
- ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกยึดหรือเพิกถอนใบขับขี่
เอกสารประกอบการขอใบขับขี่ เมื่อเช็คคุณสมบัติครบถ้วนแล้วก็มาเตรียมเอกสารประกอบที่จะใช้ในการขอใบขับขี่กันครับ ซึ่งมีหลัก ๆ 2 อย่างดังนี้
1. บัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง (Passport) ฉบับจริง และใบอนุญาตการทำงาน (Work Permit) สำหรับชาวต่างชาติ พร้อมด้วยสำเนาเอกสารดังกล่าว
2. ใบรับรองแพทย์ ที่แสดงว่าผู้ขอไม่มีโรคประจำตัวอันอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ และไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน ซึ่งมีอายุใช้ได้ตามที่แพทย์ผู้รับรองกำหนด ไม่เกิน 1 เดือน
3. ใบรับรองการอบรม (สำหรับกรณีผู้ทำการอบรมนอกกรมขนส่งทางบก)
ขั้นตอนการดำเนินการขอใบขับขี่
- จองคิวในการอบรม สำหรับขั้นตอนในการดำเนินการนั้น ก่อนอื่นต้องจองคิวในการอบรม ซึ่งการอบรมจะใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง สามารถจองได้ผ่าน 3 ช่องทางดังนี้
- จองคิวอบรมได้ที่กรมขนส่งทางบก ในพื้นที่ใกล้บ้าน ซึ่งเปิดให้ประชาชนสามารถจองคิวล่วงหน้าได้ด้วยตัวเองพร้อมหลักฐานประกอบคำขอตามที่แจ้งไว้เบื้องต้น
- จองคิวอบรมผ่านทางโทรศัพท์ ที่หมายเลข 02-271-8888 หรือ 1584 โดยผู้ที่จองคิวอบรมผ่านทางโทรศัพท์ ต้องมาลงทะเบียนในวันที่อบรมก่อนเวลา 08.00 น.
- จองคิวอบรมผ่านระบบออนไลน์ ได้ที่ ebooking.dlt.go.th/ebookin
สมรรถภาพสำคัญในการสอบใบขับขี่
- ทดสอบสายตาทางกว้าง เพื่อทดสอบความสามารถในการมองเห็นของสายตาทั้งด้านซ้าย และด้านขวา ซึ่งเป็นมุมกว้างข้างละตั้งแต่ 75 องศา
- ทดสอบการตอบสนองของเท้า เพื่อทดสอบความสามารถในการใช้เบรคเท้าเพื่อหยุดรถมอเตอร์ไซค์ให้เร็วที่สุด
- ทดสอบสายตาทางลึก เพื่อการทดสอบการมองเห็นในระยะ 2.50 - 3.50 เมตร
- ทดสอบตาบอดสี เป็นการทดสอบการมองเห็นสี จำเป็นต่อการขับรถเช่นการดูไฟและป้ายจราจรต่าง ๆ
สอบข้อเขียน
ในการสอบข้อเขียนนั้น จะสอบเกี่ยวกับป้ายจราจรและกฎจราจร ซึ่งมีจำนวน 50 ข้อ เป็นข้อสอบแบบปรนัย มีให้เลือก ก-ง จะตัดสินว่าผ่านเกณฑ์การสอบที่ 45 คะแนน หรือคิดเป็น 90% ของข้อสอบทั้งหมด แต่หากสอบไม่ผ่านเกณฑ์ สามารถกลับมาสอบใหม่ ในกำหนดเวลาไว้ไม่เกิน 90 วัน
สอบภาคปฏิบัติ
ผู้ขับขี่จะต้องทำการสอบขับขี่รถจักรยานยนต์ สามารถใช้รถตัวเองหรือใช้บริการเช่ารถของกรมขนส่งก็ได้ ซึ่งค่าเช่าจะอยู่ที่คันละ 50 บาท โดยการสอบต้องขับขี่ตามท่าที่กำหนดไว้ทั้งหมด 5 ท่า ดังนี้
- ท่าที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์โดยปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร
- ท่าที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ ทรงตัวบนทางแคบ ทรงตัวไว้โดยไม่ให้เท้าแตะพื้นประมาณ 10 วินาที
- ท่าที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์ผ่านโค้งแคบ รูปตัว Z
- ท่าที่ 4 ขับรถจักรยานยนต์ผ่านโค้ง รูปตัว S
- ท่าที่ 5 ขับรถจักรยานยนต์ซิกแซก ผ่านสิ่งกีดขวาง
ค่าใช้จ่ายในการออกใบขับขี่
- ค่าใบรับรองแพทย์เริ่มต้นที่ 100 บาท
- เมื่อผ่านการทดสอบทั้งข้อเขียนและภาคปฏิบัติแล้ว ให้มาชำระค่าธรรมเนียมภายในเวลาที่กำหนดคือ 15.30 น. ซึ่งมีค่าใช้จ่ายดังนี้
- ค่าคำขอ 5 บาท
- ค่าใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคลชั่วคราว 100 บาท
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมขนส่งทางบก
สามารถติดตาม ข่าวสาร เทรนด์ และบทความอื่นๆ ได้ที่ เว็บไซต์ MOTOFIIX Thailand